ผู้สูงอายุสูญเสียฟัน
ทำรากฟันเทียมได้เลยหรือไม่ ?
ปัญหาสุขภาพทางช่องปากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยๆ หากขาดการดูแลสุขภาพฟันที่ดี หรือมีพฤติกรรมทำร้ายฟันจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หากปล่อยสะสมไว้นานวันก็ยิ่งรักษาได้ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และความเสื่อมสภาพของร่างกาย การสูญเสียฟันก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายด้วยเช่นกัน
สาเหตุการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ
ฟันเป็นอวัยวะที่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดชีวิตหากมีการดูแลรักษาที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย ในกรณีเกิดการสูญเสียฟัน มีหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักๆ สามารถจำแนกได้ดังนี้
- การเกิดฟันผุ เกิดจากการทำความสะอาดฟันได้ไม่ดี กินอาหารที่ติดฟัน อาหารมีรสหวานมากๆ และปล่อยให้ไว้จนกระทั่งเกิดการผุกร่อนของฟัน ในที่สุดตัวฟันอาจจะเเตกหักจนเหลือแต่รากฟัน ต้องถูกถอนออกในที่สุด
- การเกิดหินปูนที่ฟัน และปล่อยทิ้งไว้จนก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ จนลุกลามอักเสบไปถึงกระดูกเบ้าฟัน การอักเสบนี้จะส่งผลให้กระดูกล้อมรอบฟันละลายลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีการรักษาอย่างถูกวิธีก็จะร้ายแรงจนกระทั่งสูญเสียฟันไป
- การดูแลสุขภาพในช่องปากไม่ดีพอ ในวัยที่อายุยังน้อย มีการสูญเสียฟันต้องเเต่อายุน้อย
- การไม่ไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ ปกติควรพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน จากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่ามาพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการเท่านั้น
- การประสบอุบัติเหตุ จนฟันแตกหัก สูญเสียฟัน
จากที่ได้กล่าวมาเป็นต้นเหตุของการสูญเสียฟันธรรมชาติได้ทั้งสิ้น รากฟันเทียมจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาของการสูญเสียฟันเหล่านี้
เมื่อสูญเสียฟันแล้วสามารถทำรากเทียมได้ทันทีเลยหรือไม่
- กรณีผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อที่ฟันกรามและต้องทำการถอนฟันทันทีโดยหลังการถอนฟันแล้วกระดูกฟันไม่มีความเสียหาย
- สามารถทำรากฟันเทียมได้ทันที แต่หากกระดูกฟันเสียหาย แตกหักหรือไม่พร้อมจะต้องมีเวลาให้กระดูกฟันสร้างขึ้นใหม่เสียก่อนจึงสามารถทำรากเทียมได้
- กรณีของการสูญเสียฟันโดยที่กระดูกฟันไม่เกิดการแตกหัก
- สามารถทำขั้นตอนการฝังรากเทียมได้ทันที และขณะที่ใส่รากเทียมจะใส่กระดูกสังเคราะห์ตามช่องว่าง เพื่อให้กระดูกสร้างใหม่ได้เร็วขึ้น
- การใช้นวัตกรรมรากฟันเทียมที่มีคุณภาพ บวกกับผู้ป่วยที่มีปริมาณกระดูกที่ดี
- สามารถทำได้ทันที โดยติดยึดครอบฟันในวันที่ปลูกรากเทียม
สรุปได้ว่าเมื่อสูญเสียฟันสามารถทำรากเทียมได้ทันที หากกระดูกฟันไม่เกิดความเสียหายหรือปริมาณกระดูกมีความสมบูรณ์ก็สามารถใส่รากฟันได้ทันทีเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิงประกอบ : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/
ขอบคุณภาพ : pexels.com